ระบบทุ่นเครื่องหมายทางเรือ (MBS) ตอนที่ 2

Last updated: 18 เม.ย 2556  |  21588 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ระบบทุ่นเครื่องหมายทางเรือ (MBS)  ตอนที่ 2

หลักการทั่วไปของระบบ
                                     ความรับผิดชอบสำหรับความปลอดภัยในการเดินเรือขึ้นอยู่กับนักเดินเรือ โดยการใช้เครื่องหมายทางเรือร่วมกับ บรรณสารการเดินเรือ และความเป็นชาวเรือ รวมทั้งการวางแผนการเดินทางที่เหมาะสม ตามที่ IMO ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ โดยคู่มือฉบับนี้จะแนะนำระบบMBSและเครื่องหมายทางเรืออื่นๆ สำหรับผู้ใช้ทุกท่าน             ระบบเครื่องหมายทางเรือของ IALA ประกอบไปด้วย ๒ ส่วน ได้แก่ระบบ MBSและเครื่องหมายทางเรืออื่นๆ ทั้งแบบติดตั้งประจำที่และแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเป็นการแบ่งชนิดตามกายภาพ อย่างไรก็ตามเครื่องหมายทางเรือดังกล่าว อาจรวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย
                                     ระบบ MBS ประกอบไปด้วยเครื่องหมาย 6 ชนิด จะใช้ติดตั้งแบบเดี่ยวหรือใช้ร่วมกันก็ได้ ซึ่งชาวเรือสามารถแยกแยะความแตกต่างของเครื่องหมายทางเรือเหล่านี้ได้ด้วยคุณลักษณะเฉพาะ โดยเครื่องหมายทางข้างจะมีความแตกต่างกันระหว่างภูมิภาคA และ B ตามที่จะอธิบายต่อไป ในขณะที่เหลืออีก 5 ชนิด จะเหมือนกันทั้ง 2 ภูมิภาค


เครื่องหมายทางข้าง
                                      ตามข้อกำหนดของการติดตั้งทุ่น  ทุ่นเครื่องหมายทางข้างในภูมิภาคAจะใช้สีแดงและสีเขียว ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนเพื่อแสดงทิศทางทางด้านซ้ายและขวาของร่องน้ำตามลำดับ ส่วนข้อกำหนดในภูมิภาค Bจะใช้สีในทางตรงกันข้ามกับภูมิภาคA  คือใช้สีแดงทางด้านขวาร่องน้ำและใช้สีเขียวทางด้านซ้ายร่องน้ำ ทุ่นเครื่องหมายทางข้าง อาจจะถูกประยุกต์ใช้ในจุดที่ร่องน้ำถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อกำหนดเส้นทางหลักหรือร่องน้ำโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ  
 

เครื่องหมายจตุรทิศ
                                      เครื่องหมายจตุรทิศ ใช้แสดงบริเวณน้ำลึกที่สุดตามทิศทางชื่อเครื่องหมายนั้น เช่น เครื่องหมายจตุรทิศเหนือ หมายถึงทิศเหนือมีน้ำลึกมากที่สุดซึ่งนักเดินเรือจะรู้ว่าทิศเหนือปลอดภัย  และสามารถเดินเรือได้ทั้งทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแต่จะต้องศึกษารายละเอียดจากแผนที่ด้วยเครื่องหมายจตุรทิศไม่ได้กำหนดรูปร่างที่แน่นอนโดยปกติใช้ทุ่นรูปร่างเสาหรือขอน ทาสีเหลืองและสีดำตามแนวนอนเครื่องหมายยอดเป็นกรวยสองอันทาสีดำ 
 
หลักการกำหนดสีของเครื่องหมายจตุรทิศให้ดูที่เครื่องหมายยอดถ้าเครื่องหมายยอดชี้ไปในตำแหน่งใด จะใช้สีดำในตำแหน่งนั้น
  • ทิศเหนือ
                                 เครื่องหมายยอดชี้ขึ้นด้านบน : ใช้แถบสีดำอยู่เหนือแถบสีเหลือง
  • ทิศใต้
                                เครื่องหมายยอดชี้ลงด้านล่าง : ใช้แถบสีดำอยู่ใต้แถบสีเหลือง
  • ทิศตะวันออก
                                เครื่องหมายยอดชี้ออกจากกัน  : ใช้แถบสีดำอยู่เหนือและใต้แถบสีเหลือง
  • ทิศตะวันตก
                               เครื่องหมายยอดชี้เข้าหากัน: แถบสีดำอยู่ตรงกลางแถบสีเหลืองอยู่เหนือและใต้
 
เครื่องหมายจตุรทิศมีการใช้จังหวะไฟที่มีลักษณะเฉพาะ โดยใช้ไฟวับสีขาวจังหวะเร็วมาก (VQ) หรือจังหวะเร็ว (Q) ซึ่งแตกต่างกันที่ช่วงเวลาการวับของไฟไฟวับจังหวะเร็วมาก หมายถึง ไฟวับที่มีอัตราการวับอยู่ที่ 120 หรือ 100 ครั้ง/นาทีไฟวับจังหวะเร็ว หมายถึง ไฟวับที่มีอัตราการวับอยู่ที่60 หรือ 50 ครั้ง/นาที
คำอธิบายลักษณะไฟของเครื่องหมายจตุรทิศตามทิศต่างๆ
  • ทิศเหนือ
                                ใช้ไฟวับจังหวะเร็วมาก หรือจังหวะเร็วแบบต่อเนื่อง
  • ทิศตะวันออก
                                 ใช้ไฟวับจังหวะเร็วมาก หรือจังหวะเร็ว ๓ วับ แล้วตามด้วยคาบมืด
  • ทิศใต้
                                ใช้ไฟวับจังหวะเร็วมาก หรือจังหวะเร็ว ๖ วับ + ไฟวับยาวแล้วตามด้วยคาบมืด
  • ทิศตะวันตก
                                ใช้ไฟวับจังหวะเร็วมาก หรือจังหวะเร็ว ๙ วับ แล้วตามด้วยคาบมืด
 
หลักการ ๓, ๖ และ ๙ สามารถจำได้ง่ายเมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวกับหน้าปัดนาฬิกาโดย ไฟวับยาวหมายถึง ไฟที่มีช่วงแสงสว่างปรากฏอยู่ไม่น้อยกว่า ๒ วินาทีเพื่อทำให้แน่ใจว่าไฟวับแบบ ๓ วับ หรือ ๙ วับ จะไม่ไปสับสนกับไฟวับแบบ ๖ วับ
ข้อสังเกตจะมีเครื่องหมายอื่นอีก2 ชนิด ที่ใช้ไฟสีขาวได้แก่   เครื่องหมายแสดงที่ปลอดภัยและเครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยวซึ่งมีจังหวะไฟที่แตกต่างกันชัดเจนไม่สับสนกับจังหวะไฟของทุ่นจตุรทิศ
 

เครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว
                                  เครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว ใช้ติดตั้งอยู่บนหรือบริเวณใกล้สิ่งที่เป็นอันตรายนั้น ซึ่งสามารถเดินเรือผ่านโดยรอบบริเวณนั้นได้ เพราะว่าสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่บริเวณที่ติดตั้งทุ่นเท่านั้นซึ่งนักเดินเรือควรศึกษารายละเอียดจากแผนที่และบรรณสารการเดินเรือ โดยเครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว ตัวทุ่นจะทาสีดำคาดสีแดง ๑ แถบหรือมากกว่าตามแนวนอน  มีเครื่องหมายยอดเป็นรูปทรงกลมทาสีดำ ๒ ลูก ใช้ไฟวับหมู่สีขาว ๒ วับ จึงทำให้แตกต่างจากจังหวะไฟของทุ่นจตุรทิศ
 
 


เครื่องหมายแสดงที่ปลอดภัย
                                 เครื่องหมายแสดงที่ปลอดภัยสามารถเดินเรือผ่านโดยรอบบริเวณนั้นได้ และบริเวณที่เครื่องหมายแสดงที่ปลอดภัยตั้งอยู่ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นอันตราย เช่นเส้นทางเดินเรือกลางร่องน้ำ หรือ ปากร่องน้ำ เครื่องหมายแสดงที่ปลอดภัยมีความแตกต่างกับเครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว โดยตัวทุ่นจะมีรูปร่างแบบ ทรงกลม เสา หรือขอน ทาสีแดงสลับขาวในแนวตั้ง เครื่องหมายยอดเป็นลูกกลมทาสีแดง ๑ ลูกใช้ไฟช่วงเท่าหรือไฟวับยาว ๑ วับ หรือรหัสMorse “A” ( • — )
 


เครื่องหมายพิเศษ
                            ทุ่นเครื่องหมายพิเศษใช้แสดงพื้นที่พิเศษหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่อ้างอิงไว้ในแผนที่หรือในบรรณสารการเดินเรือ  ซึ่งจะไม่นำไปติดตั้งบริเวณร่องน้ำหรือสิ่งกีดขวางที่ MBS ให้คำจำกัดความไว้  โดยเครื่องหมายพิเศษทาสีเหลือง อาจจะติดตั้งเครื่องหมายกากบาทที่ยอดทุ่นและใช้ไฟสีเหลือง เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนระหว่างไฟสีเหลืองและไฟสีขาวในบริเวณที่ทัศนะวิสัยไม่ดี ไฟสีเหลืองของเครื่องหมายพิเศษจะต้องมีจังหวะไฟที่แตกต่างจากจังหวะไฟสีขาว รูปร่างทุ่นต้องไม่ทำให้เกิดความสับสนกับทุ่นที่ใช้เพื่อการนำเรือ เช่น การนำทุ่นเครื่องหมายพิเศษไปติดตั้งบริเวณด้านซ้ายของร่องน้ำ อาจจะต้องใช้รูปร่างแบบทรงกระบอก ไม่ใช่รูปทรงกรวย เครื่องหมายพิเศษอาจเขียนอักษรหรือหมายเลขบนตัวทุ่นได้รวมทั้งภาพที่เหมาะสมตามสัญลักษณ์ของ IHO

เครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายใหม่
“สิ่งอันตรายใหม่”คือสิ่งอันตรายที่ค้นพบใหม่ อาจจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งยังไม่ปรากฏในบรรณสารการเดินเรือและสิ่งพิมพ์และจนกว่าข้อมูลนี้จะถูกเผยแพร่ ควรที่จะแสดงให้เห็นโดย 
ใช้เครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายใหม่ที่เหมาะสมเช่น เครื่องหมายทางข้างเครื่องหมายจตุรทิศ และเครื่องหมายสิ่งอันตรายโดดเดี่ยว หรือสิ่งที่ใช้แทนเครื่องหมายเหล่านี้
ใช้ทุ่นเรืออับปางฉุกเฉิน(EWMB)
 
ถ้าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเดินเรือ ควรวางเครื่องหมายใด ๆ อย่างน้อย ๑ อย่าง ในบริเวณดังกล่าว

ทุ่นเรืออับปางฉุกเฉินตัวทุ่นทาสีฟ้าสลับเหลืองตามแนวตั้งในจำนวนที่เท่ากัน
เครื่องหมายยอดเป็นเครื่องหมายบวกทาสีเหลืองใช้ไฟสีฟ้าสลับกับสีเหลือง 
เครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายใหม่ อาจรวมไปถึงการใช้ RaconรหัสMorse“D” ( – •• ) 
หรือเครื่องส่งสัญญาณวิทยุระบบ AIS 
เครื่องหมายแสดงสิ่งอันตรายใหม่ อาจจะถูกยกเลิกเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ยืนยันแล้วว่าสิ่งอันตรายใหม่นั้น ได้รับการเผยแพร่หรือแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 


 
ติดตามรายละเอียดของเครื่องหมายทางเรือแต่ละชนิดในตอนที่ 3 นะครับ
 
//ที่มา  น.ท.ชัยยศ  คงขวัญ  กองเครื่องหมายทางเรือ ศสด.อศ.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้